พฤ07112567

ปรับปรุงล่าสุด11:17:00 AM

ประวัติโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ในวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ในปี พ.ศ. 2455 พระยาโบราณราชธานินทร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลกรุงเก่าได้ร่วมกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ในมณฑลกรุงเก่ารวบรวมเงินเพื่อก่อสร้าง โรงพยาบาลปัญจมาธิราชอุทิศ ณ บ้านหอรัตนไชยริมน้ำขื่อหน้า เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นับเป็นโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกในมณฑลกรุงเก่าสังกัดเทศบาลพระนครศรีอยุธยาในกระทรวงมหาไทย โดยมี นายแพทย์จ๊วน รัตนิน ศัลยแพทย์ จากโรงพยาบาลศิริราช ชาวอำเภอผักไห่ มาเป็นผู้ปกครองโรงพยาบาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คุณหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิดีกรมสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับขุนเวชชรัตนรักษา(น.พ.จ๊วน รัตนิน)สาธารณสุขเทศบาลเมืองอยุธยาหาทำเลก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ ได้ลงมือก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ ได้ลงมือก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2483 เมื่อเริ่มแรกมีตึก OPD หลังแรกอยู่ตรงบริเวณตึกอุบัติเหตุเดิม ปัจจุบันเป็นบริเวณประมาณห้องยาใน มีหอผู้ป่วย 1 หลัง 2 ชั้นบนเป็นคนไข้หญิง ชั้นล่างเป็นคนไข้ชาย ต่อมาเป็นตึกกายภาพที่ชั้นล่าง และเวชกรรมสังคมที่ชั้นบนอยู่ตรง บริเวณประมาณห้องผ่าตัดเล็ก OPD ในปัจจุบัน มี อาคารไม้ 3 หลัง คือ โรงครัว ห้องเก็บศพ ห้องชันสูตร (ได้ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว)

พื้นที่โดยทั่วไป เป็นละเมาะต้นสาบเสือ ทางเดินในแต่ละตึกห่างไกลกัน และยังรกเวลาเดิน ไปตรวจคนไข้ยามค่ำคืน ต้องถือไม้เรียวคลำทางคอยไล่งู และสัตว์มีพิษในคืนเดือนหงายจะมีกระต่ายมาเต้นในสนามหญ้าหยองแหยงๆนอกจากนั้นยังมีสิงสาราสัตว์หลายชนิด เช่น เสือดาว เม่น หมูป่า ลิง ชะนี งูเหลือม งูหลามตัวโต ที่แอบเข้ามากินไก่ส่วนใหญ่คนไข้ที่มารับการตรวจรักษาจะเป็นคนในเกาะเมืองและชุมชนโดยรอบอยุธยา โดยจะมาทางเรือจอดที่ท่าน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วหามคนไข้จากริมแม่น้ำข้ามถนนอู่ทองเข้ามาที่ตึก OPD

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2486 กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้าน จำนวน 3 งาน 70 ตารางวา แล้วขุดเป็นคลองจากแม่น้ำเข้ามาถึงริมถนนอู่ทอง เพื่อให้เรือของคนไข้เข้ามาใกล้ OPD มากขึ้น โดยไม่ต้องหามกันตั้งแต่ริมแม่น้ำเหมือนแต่ก่อน (ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวยังเป็นของโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และยังมีร่องรอยคลองขุดให้เรือนำคนไข้เข้ามาถึงถนนอู่ทองได้ยังปรากฏเป็นล่องน้ำกว้าง อยู่ใต้บ้านเรือนที่ปลูกสร้างคล่อมคลองนี้อยู่) โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ได้ค่อย ๆ พัฒนาตามลำดับมีอาคารหอผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตามความจำเป็น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาคาร 2 ชั้น เช่น

  • ตึกพิเศษกิมลี้-กิจจาทร (2505) ตึกศัลยกรรม (พ.ศ.2510 ปัจจุบัน คือ หอผู้ป่วยเด็ก)
  • ตึกสงฆ์อาพาธ “เทพประชา” (2511)
  • ตึกโอสถ (อายุรกรรม พ.ศ.2514 ปัจจุบันคือ ตึกกายภาพและเวชกรรมสังคม)
  • ตึกเด็ก (พ.ศ.2514) ปัจจุบันคือ อาคารจันทร์เกษม (หอพักแพทย์)
  • ตึก ICU-2 ( พ.ศ. 2528)
  • ตึกแยกโรค ปัจจุบันคือ ห้องผู้ป่วย R.C.U. และ หอผู้ป่วย EENT
  • ตึกสูติ-นรีเวชกรรม (พ.ศ. 2535) ปัจจุบันคือตึกศรีสุริโยทัย

ในปี พ.ศ. 2533 สมัยรัฐมนตรีบุญพันธ์ แขวัฒนะ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีดำริให้โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ปรับปรุงและรื้ออาคารอาคารเก่าๆปรับปรุงให้เป็นอาคารใหม่ทั้งหมดจึงได้ให้กองแบบแผนดำเนินการ ว่าจ้างบริษัทเอกชนเขียนแบบอาคารต่างๆใหม่ทั้งหมด เช่น อาคารเอนกประสงค์ (เฉลิมพระเกียรติฯ) อาคารหอผู้ป่วยศรีสุริโยทัย ,อาคารบริการ (ปัจจุบันคืออาคารศรีอโยธยา) , และปรับปรุงหอผู้ป่วยเก่าทั้งหมดไม่น้อยกว่า 10 หลัง , อาคารสูงทุกหลังมีทางเดินเชื่อมต่อกันหมด เช่น จากอาคารเฉลิมพระเกียรติเชื่อมไปอาคารบริการ “ศรีอโยธยา” ไปอาคารศรีสุริโยทัย เป็นต้น วงเงินทั้งสิ้น 550 ล้านบาท (ราคาใน พ.ศ. 2536) ผู้บริหารใน ขณะนั้นอัน นายแพทย์พจนาท สร้อยทอง ,นายแพทย์พิเชฐ จันทอิสสระ และ นายพิสิฏฐ์ วงศ์ทองเหลือได้ไปให้ข้อมูลแก่ สำนักงบประมาณหลายครั้ง แต่ปรากฏว่าก่อนที่ สำนักงบประมาณจะเสนอโครงการเข้า ค.ร.ม ประมาณ 2 สัปดาห์ พรรคการเมืองของ ร.ม.ว บุญพันธ์ แขวัฒนะ ได้ออกจากการร่วมรัฐบาล งบประมาณ 550 ล้านบาท จึงตกไปด้วย แต่ต่อมาทางโรงพยาบาลได้พยาบาลขอเงินงบประมาณมาก่อสร้างเป็นรายปี จนได้ก่อสร้างอาคาร หอผู้ป่วยศรีสรรเพ็ชญ์ , อาคารบริการ “ศรีอโยธยา”และอาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นหลังสุดท้าย

ในปีพ.ศ.2534 ขณะที่กำลังก่อสร้างอาคารสุริโยทัย (หอผู้ป่วยสูติ-นรีเวชกรรม) ได้เกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ไม้ค้ำยันการก่อสร้างพื้นที่ชั้น 3 และ 4 แต่จากการสำรวจแล้วปรากฏว่า ตัวอาคารยังแข็งแรงดีอยู่

ในปี พ.ศ. 2538 เดือนตุลาคม ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมเกาะเมืองอยุธยารวมทั้งโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาด้วย น้ำได้ทะลักเข้ามาอย่างกะทันหันโดยไม่คาดคิดมาก่อน เนื่องจากกำแพงอิฐกั้นน้ำของโรงงานสุรานั้นได้พังทลายลงตั้งแต่เวลา 20.30 น. น้ำได้บ่าเข้ามาทางสวนสมเด็จเข้าถึงโรงพยาบาล ตั้งแต่เวลา 05.30 น. โดยสังเกตน้ำในคลองหลังโรงพยาบาลเริ่มไหลสวนทาง ครั้นเมื่อเวลา 07.00 น. ปรากฏได้ว่าน้ำเริ่มท่วมถนน ภายในแล้วครึ่งค่อนเข่านับว่าเร็วมากน้ำท่วมจากพื้นดินสูงถึง 1.50 – 1.80 เมตร ตั้งแต่วันที่ 3 – 18 ตุลาคม 2538 น้ำท่วมพื้นอาคารและหอผู้ป่วยชั้นล่างทุกหลังเป็นเหตุให้ตู้ โต๊ะ เตียง เครื่องปรับอากาศถูกแช่น้ำเสียหายทั้งหมด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมโอรสสาธิราช ได้ทรงส่งถุงยังชีพมาช่วยเจ้าหน้าที่ ของโรงพยาบาลถึง 2 รอบ และทรงสอบถามมาตลอดเวลาด้วยความห่วงใจในที่สุด พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำคันดินกั้น โดยรอบโรงพยาบาล ตลอดแนวคลองท่อ และถนนระหว่างศาลากลางเก่ากับปางช้าง แล้วให้สูบน้ำออกโดยเร็ว เพื่อเอาโรงพยาบาลไว้ให้ได้ ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนยามทุกข์ยาก ดังนั้น กรมพัฒนาพลังงาน จึงได้นำที่สูบน้ำหอยโข่งขนาดใหญ่ จากจังหวัดยะลาขึ้นมาติดตั้ง และสูบน้ำจากคลองข้างถนนอู่ทองหน้าตึกเทพประชา เป็นเวลา 3 วัน น้ำจึงลดลง

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงส่งเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กมาช่วยอีก 10 เครื่อง เพื่อให้สูบน้ำออกจากแหล่งย่อยภายในโรงพยาบาล สถานการณ์จึงได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่ 18 ตุลาคม 2538 ด้วยพระบารมีปรกเกล้าปรกกระหม่อม โดยแท้ทีเดียว